วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติและการกำเนิดของปากกา


ประวัติและการกำเนิดของปากกา

        นอกจากตัวอักษรหรือตัวหนังสือซึ่งมนุษย์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้แล้ว " เครื่องมือ " หรือ " อุปกรณ์ " ที่ใช้สำหรับการขีดเขียนก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะกว่าที่เราจะเขียนหนังสือด้วย "ปากกา " หรือ " ดินสอ " ดังเช่นในปัจจุบันนี้ มนุษย์ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการขีดเขียนเป็นเวลานานหลายพันปี 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปากกา

ในยุคอดีตมนุษย์อาจจะใช้นิ้วจุ่มดินหรือหินสี ที่บดเป็นผงผสมกับยางไม้ หรือกาวจากหนังสัตว์ ขีดเขียนบนผนังถ้ำหรือเพิงผา ต่อมาอาจใช้ ดิน หิน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยการนำมาฝนหรือทำให้เป็นแท่งเพื่อความสะดวกในการขีดเขียน เช่น นำหินชนวนมาทำเป็นดินสอหิน สำหรับเขียนบนกระดานชนวน หรือการทำชอล์กจากผงแคลเซียมซัลเฟต จากเกลือจืด หรือยิปซัมผสมน้ำ แล้วทำให้เป็นแท่งเพื่อสะดวกในการใช้งาน เช่นในปัจจุบันนี้

        วิวัฒนาการของการเขียน

        จากการเขียนบนฝาผนังถ้ำ นำมาสู่การเขียนบนแผ่นไม้หรือแผ่นโลหะ ตลอดถึงการเขียนบนใบไม้ (เขียนหรือจารคัมภีร์โบราณลงบนใบลาน) มาจนถึงการประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ มนุษย์ได้มีการพัฒนาเครื่องมือและกรรมวิธีในการเขียนมาอย่างต่อเนื่อง


        
ชาวอียิปต์โบราณเป็นชาติแรกที่ใช้แปรงเขียนหนังสือบนแผ่นกระดาษที่ทำจากต้นปาปิรุส (papyrus) เป็นการเริ่มต้นวิธีการเขียนด้วยการปล่อยหมึกหรือสีบนแผ่นรองเขียน เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือด้วยพู่กันของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นแนวความคิดเบื้องต้นที่พัฒนาไปสู่การประดิษฐ์ปากกา 
        
ชาวกรีกโบราณประดิษฐ์ปากกาขึ้นจากต้นกกไส้กลวง โดยการปาดให้มีปากหลายๆแบบ ทำให้เขียนเส้นได้หลายขนาด ปากกานี้ไม่ใช้หมึกแต่ใช้เขียนบนผิวไม้ที่เคลือบขี้ผึ้งไว้ ทำให้เกิดรอยเป็นตัวอักษรบนผิวขี้ผึ้ง
        
การนำวัสดุผิวเรียบมาเป็นสิ่งรองเขียนก่อให้เกิดการพัฒนา " เครื่องเขียน " ที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการใช้สอย มนุษย์เริ่มนำขนนกหรือขนห่านมาทำเป็น " ปากกา " เรียกว่า " ปากไก่ " สามารถเขียนได้คมชัดและเขียนติดต่อกันได้นาน       

     
ในศตวรรษที่ 5 " ปากไก่ " เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเขียนหนังสือของชาวตะวันตก ในขณะที่ชาวตะวันออกยังนิยมใช้พู่กันไม้อยู่ แต่ทั้ง "ปากไก่" และ "พู่กัน" ไม่มีหมึกในตัวเอง ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่ใช้เขียนทำให้เขียนได้ไม่สะดวก        
        
ต่อมาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ " ปากกา " ที่มีปากเป็นโลหะและมีรอยผ่าตรงกลางปาก ทำให้เขียนได้นานโดยไม่ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่เขียน
       
ในประเทศอังกฤษมีการทำปากกาชนิดนี้ขึ้นใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการผลิต " ปากกา " ที่ปลายปากทำด้วยวัสดุต่างๆกัน เช่น เขาสัตว์ เปลือกหอย เหล็กและทอง มีการผลิตกันมากขึ้นจนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แข่งขันกันในเรื่องของความสวยงาม พร้อมกับประดิษฐ์กล่องและที่ใส่หมึกควบคู่ไปกับปากกาด้วย แม้ว่าจะได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถประดิษฐ์ปากกาที่มีหมึกในตัวเองได้ 
       
 ปี ค.ศ. 1884 Lewis Edson Waterman ได้ผลิตปากกาที่มีหมึกในตัว เรียกว่า " ปากกาหมึกซึม " (Fountain pen ) ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่า Waterman เป็นบิดาแห่งการประดิษฐ์ปากกาหมึกซึม มีการคิดค้นพัฒนาปากกาชนิดนี้ให้มีคุณภาพดีขึ้น สะดวกในการใช้งานและมีรูปทรงสวยงาม ผลิตในระดับอุตสาหกรรมทั้งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ สืบต่อมาจนถึงในปัจจุบัน มีนักประดิษฐ์ปากกาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี อาทิเช่น George Parker, Walter A. Sheaffer เป็นต้น และได้ครอบครองความเป็นจ้าวแห่งเครื่องมือสำหรับการเขียนมาโดยตลอดเป็นเวลานานหลายสิบปี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปากกาball pen
        
ในปี ค.ศ. 1900 " ปากกาหมึกซึม " ได้พบคู่แข่งใหม่นั่นก็คือ " ปากกาลูกลื่น " ปากกาที่มีลูกกลิ้ง ( Ball ) กลมๆเล็กๆ อยู่ที่ปลายปาก เวลาเขียนลูกกลมๆเล็กๆนี้จะหมุน ( กลิ้ง ) ทำให้หมึกออกมาติดบนกระดาษ ปากกาชนิดนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว โดยชาวอเมริกาชื่อ จอห์น เอช. ลาวด์ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ขีดเขียนบนพื้นที่หยาบๆ ซึ่งไม่ใช่กระดาษ
        
ปลายปี ค.ศ. 1930 นักหนังสือพิมพ์และศิลปินชาวฮังกาเรียน ชื่อ ไบโร ได้ประดิษฐ์ปากกาลูกลื่นขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่ง ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ไบโรได้เกิดแนวความคิดจากหมึกแห้ง ( Quick - drying ink ) ที่ช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์นั้นใช้พิมพ์หนังสือ จึงคิดหาวิธีนำ

หมึกชนิดนี้มาบรรจุลงในปากกา โดยที่หมึกจะไม่ไหลและหยดออกมาจนเปื้อนกระดาษ ในที่สุดก็ประดิษฐ์ปากกาที่ใช้หมึกแห้งขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คือ " ปากกาลูกลื่น " ( Ball - point pen ) สามารถใช้ขีดเขียนโดยไม่มีหมึกหยดและไหลเปรอะเปื้อนเหมือนปากกาหมึกซึมแบบเก่า

      เส้นทางของปากกาลูกลื่น
     
 ปี ค.ศ. 1938 ไบโรได้ทำการจดทะเบียนสงวนลิขสิทธิ์ แต่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาก่อน เขาจึงได้หนีนาซีไปอยู่ที่ฝรั่งเศส สเปน และเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไปอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปากกาbic

ต้นปี ค.ศ. 1940 ณ กรุงบัวโนส ไอเรส ไบโรได้รับความช่วยเหลือจากพี่ชายซึ่งเป็นนักเคมีผลิตปากกาลูกลื่นออกจำหน่าย แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ เขาจึงขายลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์นี้ให้กับราชการทหารของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในราคาไม่กี่เหรียญ ภายหลังลิขสิทธิ์ได้ถูกขายต่อให้กับบริษัท BIC ( ของฝรั่งเศส ) ทำการผลิตปากกาลูกลื่นยี่ห้อ BIC ออกจำหน่ายไปทั่วโลก ในระหว่างปี ค.ศ. 1950 - 1980 สามารถจำหน่ายได้กว่า 10 ล้านด้าม / วัน       

 ในขณะเดียวกับที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงกลับไม่ประสบกับความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือความภูมิใจในสิ่งประดิษฐ์ที่คนทั่วโลกรู้จักและใช้ประโยชน์มาตราบเท่าทุกวัน

คัดลอกจาก:วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. " ปากกา เครื่องมือสื่อความคิดมนุษย์ ," สารคดี. 7(75) : 121 - 127 ; พฤษภาคม 2534











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น